วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อานาปานสติ

อานาปานสติ

   ในกรณีปรกติ ให้นั่งตัวตรง (ข้อกระดูกสันหลัง จดกันสนิท  เต็มหน้าตัด ของมันทุกๆ ข้อ) ศีรษะตั้งตรง ตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่ง จนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นอะไรหรือไม่เห็น ก็ตามใจ ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้า ก็จะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนให้ง่วงนอน ได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะ คนขึ้ง่วง ให้ทำอย่าง ลืมตานี้ แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับ ของมันเอง ในเมื่อถึงขั้นที่ มันจะต้องหลับตา หรือจะหัดทำ อย่างหลับตาเสีย ตั้งแต่ต้น ก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้น จะมีผลดีกว่า หลายอย่าง แต่ว่า สำหรับบางคน รู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะ พวกที่ยึดถือ ในการหลับตา ย่อมไม่สามารถ ทำอย่างลืมตา ได้เลย มือปล่อยวาง ไว้บนตัก ซ้อนกัน ตามสบาย ขาขัด หรือ ซ้อนกัน โดยวิธีที่จะ ช่วยยัน น้ำหนักตัว ให้นั่งได้ถนัด และล้มยาก ขาขัด อย่างซ้อนกัน ธรรมดา หรือ จะขัดไขว้กัน นั่นแล้วแต่ จะชอบ หรือ ทำได้ คนอ้วนจะขัดขา ไขว้กันอย่างที่ เรียกขัดสมาธิเพชร นั้น ทำได้ยาก และ ไม่จำเป็น แต่ขอให้นั่งคู้ขามา เพื่อรับน้ำหนักตัว ให้สมดุลย์ ล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิ อย่างเอาจริง เอาจัง ยากๆ แบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับ เมื่อจะเอาจริง อย่างโยคี เถิด

ในกรณีพิเศษ สำหรับคนป่วย คนไม่ค่อยสบาย หรือ แม้แต่ คนเหนื่อย จะนั่งอิง หรือ นั่งเก้าอี้ หรือ เก้าอี้ผ้าใบ สำหรับเอนทอด เล็กน้อย หรือ นอนเลย สำหรับคนเจ็บไข้ ก็ทำได้ ทำในที่ ไม่อับอากาศ หายใจได้สบาย ไม่มีอะไรกวน จนเกินไป เสียงอึกทึก ที่ดังสม่ำเสมอ และ ไม่มีความหมาย อะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงาน เหล่านี้ ไม่เป็นอุปสรรค (เว้นแต่ จะไป ยึดถือเอาว่า เป็นอุปสรรค เสียเอง) เสียงที่มี ความหมายต่างๆ (เช่น เสียงคนพูดกัน) นั้นเป็นอุปสรรค แก่ผู้หัดทำ ถ้าหาที่เงียบเสียง ไม่ได้ ก็ให้ถือว่า ไม่มีเสียงอะไร ตั้งใจทำไป ก็แล้วกัน มันจะค่อยได้เอง

ทั้งที่ตามองเหม่อ ดูปลายจมูกอยู่ ก็สามารถ รวมความนึก หรือ ความรู้สึก หรือ เรียกภาษาวัดว่า สติ ไปกำหนด จับอยู่ที่ ลมหายใจ เข้าออก ของตัวเองได้ (คนที่ชอบหลับตา ก็หลับตาแล้ว ตั้งแต่ตอนนี้) คนชอบลืมตา ลืมไปได้เรื่อย จนมันค่อยๆ หลับของมันเอง เมื่อเป็นสมาธิ มากขึ้นๆ เพื่อจะให้กำหนดได้ง่ายๆ ในชั้นแรกหัด ให้พยายาม หายใจ ให้ยาวที่สุด ที่จะยาวได้ ด้วยการฝืน ทั้งเข้า และ ออก หลายๆ ครั้งเสียก่อน เพื่อจะได้รู้ของตัวเอง ให้ชัดเจนว่า ลมหายใจ ที่มันลาก เข้าออก เป็นทาง อยู่ภายในนั้น มันลาก ถูก หรือ กระทบ อะไรบ้าง ในลักษณะอย่างไร และกำหนดได้ง่ายๆ ว่า มันไปรู้สึกว่า สุดลง ที่ตรงไหน ที่ในท้อง (โดยเอาความรู้สึก ที่กระเทือน นั้น เป็นเกณฑ์ ไม่ต้อง เอาความจริง เป็นเกณฑ์) พอเป็นเครื่องกำหนด ส่วนสุดข้างใน และส่วนสุดข้างนอก ก็กำหนดง่ายๆ เท่าที่จะกำหนดได้ คนธรรมดา จะรู้สึกลมหายใจ กระทบปลาย จะงอยจมูก ให้ถือเอา ตรงนั้น เป็นที่สุดข้างนอก (ถ้าคนจมูกแฟบ หน้าหัก ริมฝีปากเชิด ลมจะกระทบ ปลายริมฝีปากบน อย่างนี้ ก็ให้กำหนด เอาที่ตรงนั้น ว่าเป็นที่สุดข้างนอก) แล้วก็จะได้ จุดทั้งข้างนอก และข้างใน โดยกำหนดเอาว่า ที่ปลายจมูก จุดหนึ่ง ที่สะดือจุดหนึ่ง แล้วลมหายใจ ได้ลากตัวมันเอง ไปมา อยู่ระหว่าง จุดสองจุด นี้ ขึ้นลงอยู่เสมอ ทีนี้ ทำใจของเรา ให้เป็นเหมือน อะไรที่คอย วิ่งตามลมนั้น ไม่ยอมพราก ทุกครั้ง ที่หายใจทั้งขึ้น และลง ตลอดเวลา ที่ทำสมาธินี้ นี้จัดเป็นขั้นหนึ่ง ของการกระทำ เรียกกันง่ายๆ ในที่นี้ก่อนว่า ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา"


กล่าวมาแล้ว่า เริ่มต้นทีเดียว ให้พยายามฝืนหายใจให้ยาวที่สุด และให้แรงๆ และหยาบที่สุด หลายๆ ครั้ง เพื่อให้พบจุดหัวท้าย แล้วพบเส้นที่ลาก อยู่ตรงกลางๆ ได้ชัดเจน เมื่อจิต(หรือสติ) จับหรือ กำหนดตัวลมหายใจ ทึ่เข้าๆ ออกๆ ได้ โดยทำความรู้สึก ที่ๆ ลมมันกระทบ ลากไป แล้วไปสุดลง ที่ตรงไหน แล้วจึงกลับเข้า หรือ กลับออก ก็ตาม ดังนี้แล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อน ให้การหายใจนั้น ค่อยๆ เปลี่ยน เป็นหายใจอย่างธรรมดา โดยไม่ต้องฝืน แต่สตินั้น คงที่กำหนดที่ ลมได้ตลอดเวลา ตลอดสาย เช่นเดียวกับเมื่อ แกล้งหายใจหยาบๆ แรงนั้นเหมือนกัน คือกำหนด ได้ตลอดสาย ที่ลมผ่าน จากจุดข้างใน คือ สะดือ (หรือท้องส่วนล่างก็ตาม) ถึงจุดข้างนอก คือ ปลายจมูก (หรือ ปลายริมฝีปากบน แล้วแต่กรณี) ลมหายใจ จะละเอียด หรือ แผ่วลงอย่างไร สติก็คงกำหนด ได้ชัดเจน อยู่เสมอไป โดยให้การกำหนด นั้น ประณีต ละเอียด เข้าตามส่วน ถ้าเผอิญเป็นว่า เกิดกำหนดไม่ได้ เพราะลมละเอียดเกินไป ก็ให้ตั้งต้นหายใจ ให้หยาบ หรือ แรงกันใหม่ (แม้จะไม่เท่าทีแรก ก็เอาพอให้กำหนด ได้ชัดเจน ก็แล้วกัน) กำหนดกันไปใหม่ จนให้มีสติ รู้สึก อยู่ที่ ลมหายใจ ไม่มีขาดตอน ให้จนได้ คือ จนกระทั่ง หายใจอยู่ตามธรรมดา ไม่มีฝืนอะไร ก็กำหนดได้ตลอด มันยาว หรือสั้นแค่ไหน ก็รู้ มันหนัก หรือเบาเพียงไหน มันก็รู้พร้อม อยู่ในนั้น เพราะสติ เพียงแต่คอยเกาะแจอยู่ ติดตามไปมา อยู่กับลม ตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ทำการบริกรรม ในขั้น "วิ่งตามไปกับลม" ได้สำเร็จ การทำไม่สำเร็จนั้น คือ สติ (หรือความนึก) ไม่อยู่กับลม ตลอดเวลา เผลอเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันหนีไปอยู่ บ้านช่อง เรือกสวนไร่นา เสียเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ มารู้เมื่อ มันไปแล้ว และก็ไม่รู้ว่า มันไปเมื่อไหร่ โดยอาการอย่างไร เป็นต้น พอรู้ ก็จับตัวมันมาใหม่ และฝึกกันไป กว่าจะได้ ในขั้นนี้ ครั้งหนึ่ง ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อย แล้วจึงค่อยฝึกขั้นต่อไป

1 ความคิดเห็น: