วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อานาปานสติ

อานาปานสติ

   ในกรณีปรกติ ให้นั่งตัวตรง (ข้อกระดูกสันหลัง จดกันสนิท  เต็มหน้าตัด ของมันทุกๆ ข้อ) ศีรษะตั้งตรง ตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่ง จนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นอะไรหรือไม่เห็น ก็ตามใจ ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้า ก็จะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนให้ง่วงนอน ได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะ คนขึ้ง่วง ให้ทำอย่าง ลืมตานี้ แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับ ของมันเอง ในเมื่อถึงขั้นที่ มันจะต้องหลับตา หรือจะหัดทำ อย่างหลับตาเสีย ตั้งแต่ต้น ก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้น จะมีผลดีกว่า หลายอย่าง แต่ว่า สำหรับบางคน รู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะ พวกที่ยึดถือ ในการหลับตา ย่อมไม่สามารถ ทำอย่างลืมตา ได้เลย มือปล่อยวาง ไว้บนตัก ซ้อนกัน ตามสบาย ขาขัด หรือ ซ้อนกัน โดยวิธีที่จะ ช่วยยัน น้ำหนักตัว ให้นั่งได้ถนัด และล้มยาก ขาขัด อย่างซ้อนกัน ธรรมดา หรือ จะขัดไขว้กัน นั่นแล้วแต่ จะชอบ หรือ ทำได้ คนอ้วนจะขัดขา ไขว้กันอย่างที่ เรียกขัดสมาธิเพชร นั้น ทำได้ยาก และ ไม่จำเป็น แต่ขอให้นั่งคู้ขามา เพื่อรับน้ำหนักตัว ให้สมดุลย์ ล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิ อย่างเอาจริง เอาจัง ยากๆ แบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับ เมื่อจะเอาจริง อย่างโยคี เถิด

กสิณ

กสิณ

คือวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบหนึ่งในพระพุทธศาสนา มีความหมายว่า เพ่งอารมณ์ เป็นสภาพหยาบ สำหรับให้ผู้ฝึกจับให้ติดตาติดใจให้จิตใจจับอยู่ในกสิณใดกสิณหนึ่งใน 10 อย่าง ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว จิตจะได้อยู่นิ่งไม่ฟุ้งซ่านมีสภาวะให้จิตจับง่ายมีการทรงฌานถึงฌาน 4 ได้ทั้งหมด กสิณทั้ง 10 เป็นพื้นฐานของอภิญญาสมาบัติ
การเพ่งกสิณนับว่าเป็นอุบายกรรมฐานกองต้นๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่ออบรมจิต (อันเป็นแนวทางแห่งการบรรลุสำเร็จมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้) ซึ่งอุบายกรรมฐานมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่สิบกอง ภายใต้กรรมฐานทั้งสี่สิบกองนั้น จะประกอบไปด้วยกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการเพ่งกสิณอยู่ถึงสิบกองด้วยกัน

กรรมฐานแก้กรรมอย่างไร หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

กรรมฐานแก้กรรมอย่างไร หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน


ถ้าท่านพบพระเมื่อใด ท่านจะสบายใจเมื่อนั้น
การเจริญกรรมฐาน ให้พบพระที่ถูกต้อง
ถ้าท่านกำหนดจิต โดยใช้ชีวิตที่จะพบพระ
มีการกำหนดจิตให้มีสติสัมปชัญญะ สร้างความดีให้กับตัวเอง
ท่านจะพบพระ จิตใจจะประเสริฐ จิตใจจะเย็นสบาย มีความสุข
ถ้าจิตใจมีแต่ความทุกข์ ท่านจะพบพระได้ที่ไหน
มาพบพระที่วัดอัมพวันก็ไม่ใช่พระของท่าน
พระอยู่ในจิตก็หารู้ไม่ กลับเอาพระออกจากจิตใจไปเสีย
เอาความวุ่นวายเข้ามาแทนที่ สร้างความดีไม่ได้ดังกล่าวแล้ว
ไฉนเลยเล่าจะพบของดีในตัวเอง ก็คงจะไม่ได้ผล
ไม่ได้อานิสงส์ในการพบพระในการปฏิบัติกรรมฐาน

การปฏิบัติกัมมัฏฐานเบื้องต้น

วิธีปฏิบัติกรรมฐานเบื้องต้น

การเดินจงกรม
ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า ยืนหนอช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง
แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คำว่า ยืนจิตวาดมโนภาพร่างกาย จากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอจากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดคำว่า ยืนจากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอจากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนดกลับไปกลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย
เสร็จแล้ว ลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๑ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...กำหนดในใจ คำว่า ขวาต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน ย่างต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้า ยังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอเท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...คงปฏิบัติ เช่นเดียวกันกับ ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...
ระยะก้าวในการเดิน ห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัว ขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด ยืนหนอช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ทำความรู้สึกโดยจิต สติ รู้อยู่ตั้งแต่กลางกระหม่อม แล้วกำหนด ยืนหนอ๕ ครั้ง เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงปลายเท้า เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา ยืนหนอ๕ ครั้ง แล้วหลับตา ตั้งตรง ๆ เอาจิตปักไว้ที่กระหม่อม เอาสติตาม ดังนี้ ยืน.....” (ถึงสะดือ) หนอ.....” (ถึงปลายเท้า) หลับตาอย่าลืมตา นึกมโนภาพ เอาจิตมอง ไม่ใช่มองเห็นด้วยสายตา ยืน……” (จากปลายเท้าถึงสะดือ หยุด) แล้วก็ หนอ…….” ถึงปลายผม คนละครึ่ง พอทำได้แล้ว ภาวนา ยืน….หนอ....จากปลายผม ถึงปลายเท้าได้ทันที ไม่ต้องไปหยุดที่สะดือ แล้วคล่องแคล่วว่องไว ถูกต้องเป็นธรรม
ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกายอย่าให้ออกไปนอก กาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้า ทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๑ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...กำหนดในใจ
คำว่า ขวาต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อม
คำว่า ย่างก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าให้ช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น
คำว่า หนอเท้าเหยียบพื้นเต็มฝ่าเท้า อย่าให้ส้นเท้าหลังเปิด
เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดคำว่า ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...คงปฏิบัติเช่นเดียวกับ ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมาก เพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้เดินแล้ว พยายามใช้เท้าขวาเป็นหลักคือ ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...แล้วตามด้วยเท้า ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...จะประกบกันพอดี
แล้วกำหนดว่า หยุด... หนอ...จากนั้นเงยหน้า หลับตากำหนด ยืน... หนอ...ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับหนอ๔ ครั้ง คำว่า กลับหนอ

มรรคมีองค์ 8

มรรคมีองค์ 8 หรือทางสายกลาง

http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/images/spacer.gifอริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือ หนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกฺข-นิโรธคามินีปฎิปทา-อริยสจฺจ) หนทางสายนี้เรียกว่า "ทางสายกลาง (มชฺฌิมา ปฏิปทา) เพราะงดเว้นจากข้อปฏิบัติที่เอียงสุด 2 ประการ
http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/images/spacer.gifข้อปฎิบัติเอียงสุดอย่างแรก ได้แก่ การแสวงหาความสุขด้วยกามสุข อันเป็นของต่ำทราม เป็นของธรรมดา ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นทางปฏิบัติของสามัญชน
http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/images/spacer.gifข้อปฎิบัติเอียงสุดอีกอย่างหนึ่ง คือการแสวงหาความสุขด้วยการทรมานตนเองให้เดือดร้อน ด้วยการบำเพ็ญทุกกรกิริยาในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการทรมานร่างกาย เป็นสิ่งไม่มีค่า และเป็นสิ่งไม่มีประโยขน์ ในเบื้องแรกนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เอียงสุดทั้งสองประการนี้มาแล้ว ทรงพบว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ จึงได้ทรงค้นพบทางสายกลางนี้ด้วยประสบการณ์ของพระองค์เอง ซึ่งเป็นทางที่ให้ทัศนะและปัญญาอันนำไปสู่ความสงบ ญาณ การตรัสรู้ และนิรวาณะ (พระนิพพาน) ทางสายกลางนี้โดยทั่วไปหมายถึง ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ (อริยอฏฐคิกมคฺค) เพราะประกอบด้วยองค์ หรือส่วนประกอบ 8 ประการคือ
1.       เห็นชอบ (สัมมาทิฏิฐิ) (ปัญญา) ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท โดยการเข้าใจชอบหรือเห็นชอบนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.ความเข้าใจคือความรู้ ความเป็นพหูสูตร ความมีสติปัญญา สามารถรอบรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตามข้อมูลที่ได้มา ความเข้าใจประเภทนี้เรียกว่า "ตามรู้" (อนุโพธ) เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ลึกซึ้ง 2.ส่วนความเข้าใจที่ลึกซึ้งซึ่งเรียกว่า"การรู้แจ้งแทงตลอด" (ปฏิเวธ) หมายถึงมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามสภาวะที่แท้จริง โดยไม่คำนึงถึงชื่อ และป้ายชื่อยี่ห้อของสิ่งนั้น การรู้แจ้งแทงตลอดนี้จะมีขึ้นได้ เมื่อจิตปราศจากอาสวะทั้งหลาย และได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ด้วยการปฏิบัติสมาธิเท่านั้น
2.      ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) (ปัญญา) ได้แก่ ความตรึกที่เป็นกุศล ความนึกคิดที่ดีงาม (กุศลวิตก 3 ประกอบด้วย 1.ความตรึกปลอดจากกาม ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรบปรือสนองความอยากของตน 2. ความตรึกปลอดจากพยาบาท ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคือง หรือ เพ่งมองในแง่ร้าย 3.ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียนด้วยกรุณาไม่คิดร้าย หรือมุ่งทำลาย)
3.     เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) (ศิล) ได้แก่ วจีสุจริต 4 ประกอบด้วย 1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่พูดส่อเสียด 3.ไม่พูดหยาบ 4.ไม่พูดเพ้อเจ้อ
4.      กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) (ศิล) ได้แก่ กายสุจริต 3 ประกอบด้วย 1.ไม่ฆ่าสัตว์ 2.ไม่ลักทรัพย์ 3.ไม่ประพฤติผิดในกาม
5.     เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) (ศิล) ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
6.     พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) (สมาธิ) ได้แก่ สัมมัปปธาน 4 ประกอบด้วย 1.เพียรระวัง หรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น 2.เพียรละ หรือเพียรกำจัด คือเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว 3.เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น 4. เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์
7.      ระลึกชอบ (สัมมาสติ) (สมาธิ) ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย 1.การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย 2. การตั้งสติกำหนดพิจาณาเวทนา 3.การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต 4.การตั้งสติพิจารณาธรรม (มีรายละเอียดเพิ่มเติม)
8.     ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) (สมาธิ) ได้แก่ ฌาน 4 ประกอบด้วย 1.ปฐมฌาณ 2.ทุติยฌาน 3.ตติยฌาน 4.จตุตถฌาณ

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร?

สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร?

สติ แปลว่า การตามระลึกรู้อารมณ์
ปัฏฐาน
 แปลว่า ที่ตั้ง (ของการเพ่ง)
สติปัฏฐาน ๔
 หมายถึง ฐาน หรือที่ตั้งอันเป็นที่รองรับของการกำหนดสติอย่างประเสริฐ เพราะเป็นการตามระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ (รูป-นาม) ที่เกิดขึ้นตามฐาน ซึ่งมี ๔ ฐานด้วยกัน คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ผู้ใดที่มีการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักของสติปัฏฐาน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาปัญญา อันเป็นปัญญาที่เข้าถึงสภาวธรรมของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ในที่สุด ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ สามารถทำลายวิปลาสธรรม ๔ ประการได้ คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
 คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณากาย ซึ่งเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงรูปนั้นเป็นอสุภะ(ความไม่งาม,ความน่าเกลียด) เป็นการทำลาย สุภวิปลาส(สำคัญว่างาม,ว่าน่ารัก)
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
 คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาเวทนา ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงเแล้ว นามเป็นทุกข์ เป็นการทำลาย สุขวิปลาส(สำคัญว่าเป็นสุข)
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
 คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาจิต ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วนามเป็นอนิจจัง เป็นการทำลาย นิจจวิปลาส(สำคัญว่าเที่ยง)
๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
 คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาธรรม ซึ่งเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว รูป และนามนั้น เป็นอนัตตา เป็นการทำลาย อัตตวิปลาส(สำคัญว่าเป็นตัวตน)

โดยทั่วไปแล้ว ชีวิตทุกชีวิตย่อมมีวิปลาสธรรมเสมอ วิปลาสธรรม หมายถึง ธรรมที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยรู้เลยว่า ชีวิตคือ ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันประกอบขึ้นจาก จิต เจตสิก และรูป ที่มีการเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนี้เพราะ อาสวะ และอวิชชา ที่เรามีมาเนิ่นนานจนนับภพนับชาติไม่ถ้วน ประกอบกับตัวการสำคัญที่มาคอยปิดบัง ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมของความจริงอันได้แก่ “ไตรลักษณ์” ได้

วิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณ ๙

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้น เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ
            ญาณทั้ง ๙ นี้ ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วนญาณ ที่ ๙ นั้น เป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๘ แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑ จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ทุก ๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ คือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้เป็นต้น คำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตายไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไปนอกจากระงับ ความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ คล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืน เดินทำกิจการงานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้ บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรัก ขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์ ผูกพันฉันใด ท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกัน หลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน คือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบัน ต่อไปนี้ จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
            ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่า สังขาร หมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุ ท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลย พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคน ที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รัก ของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้ และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย แม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาล ไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้ จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณ ที่สอง จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่า นั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้ อะไรเลย จงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้ม ข้าวต้ม จะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ
            ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิด และความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติ ทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตาม ความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และ ค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจาก เป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสว กลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัว ทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณา ให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไร มันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็ เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อย ๆ สลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา
            รวมความว่า ความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อย ๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับ เลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหว เพราะเข้าใจและคิดอยู่ รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ
            ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขาร เมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานา ชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวน ตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้ว กินนอกบ้านก็แล้ว อาหาร ราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของ มันฉะนั้น โรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็ เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจาก ภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควร จะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ
            ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวมกับ ญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อนี้จึง ไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจารณา
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
            ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้ว ดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่า ทุกลมหายใจเข้า ออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัย เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และ ทำลายในที่สุดประการหนึ่ง สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขาร นี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญา ความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ ๔ มาร่วมพิจารณาด้วย จะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้ว นั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้ว เอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็ว และชัดเจนแจ่มใสมาก เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารัก ได้เลย
๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ
            ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้ว จากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติ เป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่าน ให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มี สังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย การที่หาทางเบื่อหน่าย ท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้
1.      ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือ ความเกิด
2.     ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่
3.    ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น
4.     อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยาก คือ อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ
5.    ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ
6.    เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง
7.     ผัสสะ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อายตนะ ๖ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ
8.    อายตนะ ๖ มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ ๕ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา คือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม ท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้ง นามว่า นามรูป
9.    นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณ ในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ ๕
10.วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร
11.  สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรัก ความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ
            รวมความแล้ว ความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา ความโง่เป็นสมุฏฐาน ฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออก ด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขาร นี้ได้
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
            พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการ ซ้อน ๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา
๘. สังขารุเปกขาญาณ
            ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอก คือร่างกายของคน และ สัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณ ที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม มีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่า ธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิต สบายเป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น
๙. สัจจานุโลมิกญาณ
            พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดน ของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่า สังขารมีทุกข์ประจำ เป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่า เห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ ๑
            พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย ตัณหา ความทะยานอยาก ๓ ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยาก ทั้ง ๓ นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้

            จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่า มรรค ๘ ย่อมรรค ๘ ลงเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิ เป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสีย ได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ ๔ ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง จนจิต ครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ ชื่อว่าท่านได้ วิปัสสนาญาณ ๙ และอริยสัจ ๔ แต่อย่าเพ่อพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป จนตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้แล้ว นั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว

อสุภกรรมฐาน

อสุภกรรมฐาน

อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน
รวมความแล้วได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม 
มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน
กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน
อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถ
จะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้ เพราะเป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์ด้านพิจารณามากกว่า 
การเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน 
เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณมาก นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐาน 
จนทรงปฐมฌานได้ดีแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์
วิปัสสนาญาณได้อย่างไม่ยากนัก สำหรับอสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัด
ราคจริตเหมือนกันทั้ง ๑๐ กอง คือค้นคว้าหาความจริงจากวัตถุที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่นิยมชมชอบ
กันว่าสวยสดงดงามที่บรรดามวลชนทั้งหลายพากันมัวเมา หลงไหลใฝ่ฝันว่าสวยสดงดงามจนเป็นเหตุ
ให้เกิดภยันตรายแก่ตน ลืมชีวิตความเป็นอยู่ของตน มอบหมายความรักความปรารถนาให้แก่วัตถุ
ที่ตนหลงรัก เป็นการประพฤติที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง เป็นเหตุของความทุกข์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น
กรรมฐานนี้จะค้นคว้าหาความจริงจากสรรพวัสดุต่างๆ ที่เห็นว่าสวยสดงดงามเอามาตีแผ่ให้เห็นเหตุ
เห็นผลว่า สิ่งที่สัตว์และคนหลงไหลใฝ่ฝันนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม เป็นของน่าเกลียด
โสโครกทั้งสิ้น กรรมฐานในหมวดอสุภกรรมฐานมีความหมายในรูปนี้ จึงเป็นกรรมฐานที่ระงับ
ดับอารมณ์ที่ใคร่อยู่ในกามารมณ์เสียได้ ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว
ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลไม่ยากนักเพราะพระอนาคามี
ผลเป็นพระอริยบุคคลที่มีความสงบ ระงับดับความรู้สึกในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ท่านที่เจริญกรรมฐาน
หมวดอสุภนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นในการเจริญฌานด้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามารมณ์ ฉะนั้น นักปฏิบัติ-
กรรมฐานที่มีความชำนาญในอสุภกรรมฐานจึงเป็นของง่ายในการเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อให้บรรลุ
เป็น อนาคามีผลและอรหัตตผล
อสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง

อสุภกรรมฐาน ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ 
๑. อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป 
มีร่างกายขึ้นบวม พองไปด้วยลม ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง 
๒. วินิลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อ
มาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุมไว้ อาศัยที่ร่างกายของผู้ตาย
ส่วนใหญ่ก็ปกคลุมด้วยผ้า ฉะนั้น สีเขียวตามร่างกายของผู้ตายจึงมีสีเขียวมาก ท่านจึงเรียกว่า
วินีลกะ แปลว่าสีเขียว 
๓. วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ 
๔. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาด
ออกจากกัน 
๕. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน 
๖. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจายมีมือ แขน 
ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง 
๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ 
๘. โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ 
๙. ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่ 
๑๐. อัฏฐิกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก 

ธนาคารเวลา

ธนาคารเวลา


บทความนี้ เมื่อท่านอ่านจบ ให้ถามตัวเองว่า
” สิ่งไหนที่สำคัญ สิ่งนั้นทำแล้วหรือยัง ? ”
” คนไหนที่เรารัก ทำดีกับเค้าแล้วหรือยัง ? ”
ลองจินตนาการว่ามีธนาคารแห่งหนึ่งเข้าบัญชีให้คุณทุกเช้า เป็นเงิน 86,400 บาท ไม่มีการยกยอดคงเหลือไปวันรุ่งขึ้น
ทุกตอนเย็นจะลบยอดคงเหลือทั้งหมดที่คุณไม่ได้ใช้ระหว่างวัน
คุณจะทำอย่างไร? แน่นอนที่สุดคุณต้องถอนมาใช้ทุกบาททุกสตางค์ ใช่ไหม!!!
เราทุกคนมีธนาคารอย่างนั้นเหมือนกัน ธนาคารแห่งนี้ชื่อว่า “เวลา” มันเข้าบัญชีให้คุณ 86,400 วินาที
ทุกคืนมันจะถูกล้างบัญชีถือว่าขาดทุนตามจำนวนที่คุณพลาดโอกาสที่จะลงทุนในสิ่งดีๆ มันไม่สะสมยอดคงเหลือ
ไม่ให้เบิกเกินบัญชี ในแต่ละวันจะเปิดบัญชีใหม่ให้คุณ ทุกค่ำคืนจะลบยอดคงเหลือของทั้งวันออกหมด
ถ้าคุณเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในระหว่างวัน ผลขาดทุนเป็นของคุณ ไม่สามารถถอยหลังกลับไปได้
ไม่มีการถอนของ “วันพรุ่งนี้” มาใช้ได้ คุณต้องมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันด้วยยอดเงินฝากของวันนี้
ให้ลงทุนจากเงินฝากเหล่านี้เพื่อได้ผลตอบแทนมาสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อสุขภาพ ความสุข และความสำเร็จ!
นาฬิกากำลังเดิน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
ทำทุกขณะที่คุณมีให้มีคุณค่า! และจำไว้เสมอว่าเวลาไม่คอยใครแม้สักคนเดียว เมื่อวานเป็นอดีต
พรุ่งนี้ยังยากที่จะอธิบาย วันนี้เป็นของขวัญ เราจึงเรียกว่า “Present 

ขาว กับ ดำ หมายถึงอะไร?

นิทานเรื่องนี้เล่าต่อกันมานานแล้ว :

  
   เศรษฐีคนหนึ่งชอบใจลูกสาวชาวนายากไร้ผู้หนึ่ง เขาเชิญชาวนากับลูกสาวไปที่สวนในคฤหาสน์ของเขา 
เป็นกรวดกว้างใหญ่ที่มีแต่กรวดสีดำกับสีขาว
เศรษฐีบอกชาวนาว่า “ท่านเป็นหนี้ข้าจำนวนหนึ่ง แต่หากท่านยกลูกสาวให้ ข้าจะยกหนีสินให้ทั้งหมด” ชาวนาไม่ตกลง
เศรษฐีบอกว่า “ถ้าเช่นนั้นเรามาพนันกันดีไหม ข้าจะหยิบกรวดสองก้อนขึ้นมาใส่ในถุงผ้านี้ ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว 
ให้ลูกสาวของท่านหยิบก้อนกรวดจากถุงนี้ หากนางหยิบได้ก้อนสีขาว ข้าจะยกหนี้สินให้ท่าน 
และนางไม่ต้องแต่งงานกับข้า แต่หากนางหยิบได้ก้อนสีดำ นางต้องแต่งงานกับข้า 
และแน่นอนข้าจะยกหนี้ให้ท่านด้วย”ชาวนาตกลงเศรษฐีหยิบกรวดสองก้นใส่ในถุงผ้า หญิงสาวเหลือบไปเห็นว่า 
กรวดทั้งสองก้อนนั้นเป็นสีดำเธอจะทำอย่างไร?
หากเธอไม่เปิดเผยความจริง ก็ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกง หากเธอเปิดเผยความจริง 
เศรษฐีย่อมเสียหน้า และยกเลิกเกมนี้ แต่บิดาของเธอก็ยังคงเป็นหนี้เศรษฐีต่อไปอีกนาน
ลูกสาวชาวนาเอื้อมมือลงไปในถุงผ้า หยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อน
พลันเธอปล่อยกรวดในมือร่วงลงสู่พื้น กลืนหายไปในสีดำและสีขาวของสวนกรวด
เธอมองหน้าเศรษฐี เอ่ยว่า “ขออภัยที่ข้าพลั้งเผลอปล่อยหินร่วงหล่น 
แต่ไม่เป็นไรในเมื่อท่านใส่กรวดสีขาวกับสีดำอย่างละหนึ่งก้อนลงไปในถุงนี้ 
ดังนั้นเมื่อเราเปิดถุงออกดูกรวดก้อนที่เหลือ ก็ย่อมรู้ทันทีว่ากรวดที่ข้าหยิบไปเมื่อครู่เป็นสีอะไร”
ที่ก้นถุงเป็นกรวดสีดำ “…ดังนั้นกรวดก้อนที่ข้าทำตกย่อมเป็นสีขาว”
ชาวนาพ้นสภาพลูกหนี้ และลูกสาวไม่ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกงคนนั้นเราส่วนใหญ่ถูกสอนมาให้มองปัญหาแบบขาวกับดำ
แต่ไม่ใช่ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้อย่างขาวกับดำเสมอไป
ในทางตรงกันข้าม หากเราลองมองต่างมุม จะพบหนทางการแก้ปัญหามีมากกว่าหนึ่งสายเสมอ 
และการยืดหยุ่นพลิกแพลงไปตามสถานการณ์เป็นวิธีการหนึ่งโลกไม่มีสีขาวกับดำ